วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อาการใจสั่น

"อาการใจสั่น"



        เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่หลายคนเคยเจอ บางรายหมายถึงปกติ แต่บางรายอาจถือว่าไม่ปกติก็ได้ โดยทั่วไปเรามักรู้สึกถึง การเต้นของหัวใจ ในภาวะที่หัวใจบีบตัวแรง เต้นเร็ว ในขณะออกกำลังกาย แต่ในภางะที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นเลย ในบางคนอาจจะเกิด อาการใจสั่น จนทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยว่า หัวใจฉันเกิดความผิดปกติหรือไม่

6 ลักษณะอาการใจสั่นที่เกิดขึ้นได้

        1. อาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ
        2. อาการใจสั่นร่วมกับอาการอื่น เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บ แน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึง โรคหัวใจรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
        3. อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่สัมผัสกับการออกแรง และสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยมักแยกอาการแตกต่างกันขณะที่มีและไม่มี อาการใจสั่น
        4. อาการใจสั่นที่เกิดร่วมกับจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
        5. อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมี กล้ามเนื้อหัวใจตาย จากหลอดเลือดอุดตัน หัวใจโตล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
        6. อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่มีประวัติ คนในครอบครัว ใกล้ชิด เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะการเสียชีวิตกะทันหัน ก่อนวัยอันควร

        ในบางครั้งที่หัวใจเต้นเร็วมาก อาจเกิดการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือเวียนศีรษะ บางครั้งหัวใจเต้นเร็วจนไม่สามารถพยุงความดันโลหิต ก็จะส่งผลให้เกิดการหน้ามืด เวียนศีรษะได้ และถ้าอาการเกิดขึ้นขณะที่อยู่นิ่งๆ โดยอาการเกิดขึ้นและหยุดทันที ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์หรือสัมพันธ์กับอาการเวียนหัว วูบ หน้ามืด มักมีสาเหตุจากวงจรไฟฟ้าเต้นผิดปกติ เพราะหากเกิดการตื่นเต้น เครียด หรือการออกกำลังกาย มักจะมีการเต้นเร็ว ค่อยๆเป็น และค่อยๆเต้นช้าลงเรื่อยๆ

        ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นเร็วบ่อยครั้งที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดจาง ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จากโรคท้องร่วงหรือเสียเลือดมาก ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็ว ก็จะกลับสู่ปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สิ่งที่กระตุ้น ที่จะทำให้เกิดภาวะใจสั่น
        - คาเฟอีน
        - เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
        - ภาวะความเครียด
        - การอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
        - ภาวะขาดน้ำ
        - การเจ็บป่วยจากโรค เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป
        - ยาบางชนิด

เช็คสภาพหัวใจด้วยตัวคุณเอง
        หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้น หากคุณไปพบคุณหมอในเวลาต่อมา อาการ และการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้หายแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่กี่วินาที อาจไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นคุณอาจมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย โดยการจับชีพจร และนับอัตราการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 1 นาที และสังเกตจังหวะของชีพจรเร็วกว่าปกติหรือไม่ ชีพจรสม่ำเสมอหรือเร็วช้าไม่สม่ำเสมออย่างไร

        หรือสำรวจด้วยการเช็คสมรรถภาพร่างกาย หากลดลง เช่น เหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมบ่อย หัวใจสั่นมากผิดปกติทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย มีอาการบวมในร่างกายเกิดขึ้น นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหัวสูงเท่านั้น ในรายที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะเช็คสภาพหัวใจได้ง่าย แต่ในรายที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย แน่นอน วิ่งนิดหน่อย คุณก็เหนื่อยแล้ว

        การดูแลรักษาในเบื้องต้น คุณหมอจะสอบถามประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจเอ็กซเรย์เงาปอด และหัวใจ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อช่วยการวินิจฉัย หรือนำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม ส่วนใครสงสัยว่า ฉันอาจมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดหรือไม่นั้น แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่ง สายพานเลื่อน หรือผู้ใดที่สงสัยว่าตัวเอง มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจตีบ หรือผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของ เยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอก็จะส่งตรวจด้วย เครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Ecohocardigraphy) อีกครั้งหนึ่ง

        นอกจากนี้ การรักษายังขึ้นอยู่กับผลการตรวจว่า มีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ถ้ามี การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นชนิดใด และที่สำคัญมีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือ ความผิดปกติของอวัยวะใด การรักษาที่สำคัญ คือ รักษาที่สาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการ ขยายหลอดเลือดหัวใจ เช่น การทำบอลลูน หรือการถ่างหลอดเลือด ด้วยขดลวดต่อไป


นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานันท์
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3