วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

อนุสัญญานี้มีขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศเพื่อป้องกันการเกิดปรากฏการณ์
เรือนกระจก หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศต่างๆของโลก และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในที่สุด โดยในอนุสัญญามีการกำหนดปริมาณก๊าซที่เป็นระดับที่จะรักษาไว้เป็นตัวเลขแน่ นอน ด้วยหลักการป้องกันไว้ก่อน หลักความรับผิดชอบ
ร่วมกันในระดับที่แตกต่าง หลักการสื่อสารด้านข้อมูลข่าวสาร และหลักการให้การช่วยเหลือกลุ่มที่ด้อยกว่า จากหลักการทั้งหมด
ที่กล่าวมาก่อให้เกิดข้อตกลง หรือกฎข้อบังคับอื่นตามมา ได้แก่ พิธีสารเกียวโต อนุสัญญาฯ มีเป้าหมายหลัก คือ ทำให้ปริมาณ
ก๊าซเรือนกระจกคงที่ เพื่อให้ระบบนิเวศสามารถปรับตัวได้ การผลิตอาหารมั่นคง และมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 1992 ได้ลงนามในอนุสัญญาครั้งแรกที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1994 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาต้องทำการประเมินปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่าง ๆ ( Inventory of Greenhouse Gases) ซึ่งเป็นวิธีการเบื้องต้นที่ทำให้ทราบสัดส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของแต่ละประเทศ โดยให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามบัญชีชื่อต่อท้าย อนุสัญญา ที่เรียกว่า Annex I Countries มีพันธกรณีที่ต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามอนุสัญญา ส่วนประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ จัดอยู่ในกลุ่ม Non-Annex ไม่มีพันธะกรณีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะสัดส่วนของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังต่ำกว่ากลุ่มประเทศ Annex I ซึ่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก
จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นในยุคอุตสาหกรรม และมีส่วนสำคัญที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 1989 และให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1994 มีผลบังคับใช้วันที่ 28 มีนาคม 1995 โดยไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นผู้กำหนดท่าทีของประเทศไทย โดยรายตรงต่อคณะรัฐมนตรี ประเทศไทยได้ดำเนินการตามพันธกรณีที่มีต่ออนุสัญญา UNFCCC ในฐานะประเทศกำลังพัฒนา พันธกรณีที่สำคัญคือการลดก๊าซเรือนกระจกและการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล (การจัดทำรายงานแห่งชาติ) โดยประเทศไทยได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์ป่าไม้ การปลูกป่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้แก่ประชาชนอีกด้วย

เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ อากาศส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงผลกระทบต่อ ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ระบบนิเวศชายฝั่ง และทรัพยากรประมง ประเทศไทยได้ดำเนินงานเพื่อรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การปลูกป่าชายเลน เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำ และเพื่อเป็นพื้นที่กันชน
ที่ลดความรุนแรงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งกรมฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์
การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ เพื่อบริหารจัดการแนวชายฝั่งทะเลทั่วประเทศโดยการจัดการพื้นที่เชิงบูรณาการ นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำโครงการแนวทางการจัดการ พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืนโดยประชาชนมีส่วนร่วม โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟู
ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ต่างๆ โครงการจัดสร้างปะการังเทียม โครงการสงวนคุ้มครองสัตว์และระบบนิเวศทางทะเล โครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล โครงการจัดการที่ดินชายทะเล นอกจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้จัดทำแผนการดำเนินงานว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของกรมฯ
พ.ศ. 2551-2562 ตามแผนกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อาการใจสั่น

"อาการใจสั่น"



        เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่หลายคนเคยเจอ บางรายหมายถึงปกติ แต่บางรายอาจถือว่าไม่ปกติก็ได้ โดยทั่วไปเรามักรู้สึกถึง การเต้นของหัวใจ ในภาวะที่หัวใจบีบตัวแรง เต้นเร็ว ในขณะออกกำลังกาย แต่ในภางะที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นเลย ในบางคนอาจจะเกิด อาการใจสั่น จนทำให้เกิดข้อกังวลสงสัยว่า หัวใจฉันเกิดความผิดปกติหรือไม่

6 ลักษณะอาการใจสั่นที่เกิดขึ้นได้

        1. อาการใจสั่นที่อาจเกิดจากความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ หรือ โรคหัวใจ
        2. อาการใจสั่นร่วมกับอาการอื่น เช่น หน้ามืด เป็นลมหมดสติ เจ็บ แน่นหน้าอก หรือเหนื่อยหอบกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึง โรคหัวใจรุนแรงควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
        3. อาการใจสั่นที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยไม่สัมผัสกับการออกแรง และสามารถหายได้เอง ผู้ป่วยมักแยกอาการแตกต่างกันขณะที่มีและไม่มี อาการใจสั่น
        4. อาการใจสั่นที่เกิดร่วมกับจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
        5. อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยที่เคยมี กล้ามเนื้อหัวใจตาย จากหลอดเลือดอุดตัน หัวใจโตล้มเหลว หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด
        6. อาการใจสั่นในผู้ป่วยที่มีประวัติ คนในครอบครัว ใกล้ชิด เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะการเสียชีวิตกะทันหัน ก่อนวัยอันควร

        ในบางครั้งที่หัวใจเต้นเร็วมาก อาจเกิดการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหนื่อย หรือเวียนศีรษะ บางครั้งหัวใจเต้นเร็วจนไม่สามารถพยุงความดันโลหิต ก็จะส่งผลให้เกิดการหน้ามืด เวียนศีรษะได้ และถ้าอาการเกิดขึ้นขณะที่อยู่นิ่งๆ โดยอาการเกิดขึ้นและหยุดทันที ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์หรือสัมพันธ์กับอาการเวียนหัว วูบ หน้ามืด มักมีสาเหตุจากวงจรไฟฟ้าเต้นผิดปกติ เพราะหากเกิดการตื่นเต้น เครียด หรือการออกกำลังกาย มักจะมีการเต้นเร็ว ค่อยๆเป็น และค่อยๆเต้นช้าลงเรื่อยๆ

        ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นเร็วบ่อยครั้งที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ แต่เกิดจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะเลือดจาง ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จากโรคท้องร่วงหรือเสียเลือดมาก ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาแล้ว ภาวะหัวใจเต้นเร็ว ก็จะกลับสู่ปกติ โดยไม่ต้องใช้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สิ่งที่กระตุ้น ที่จะทำให้เกิดภาวะใจสั่น
        - คาเฟอีน
        - เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
        - ภาวะความเครียด
        - การอ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ
        - ภาวะขาดน้ำ
        - การเจ็บป่วยจากโรค เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือทำงานมากเกินไป
        - ยาบางชนิด

เช็คสภาพหัวใจด้วยตัวคุณเอง
        หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้น หากคุณไปพบคุณหมอในเวลาต่อมา อาการ และการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้หายแล้ว การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่กี่วินาที อาจไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นคุณอาจมีส่วนช่วยในการวินิจฉัย โดยการจับชีพจร และนับอัตราการเต้นของชีพจรในระยะเวลา 1 นาที และสังเกตจังหวะของชีพจรเร็วกว่าปกติหรือไม่ ชีพจรสม่ำเสมอหรือเร็วช้าไม่สม่ำเสมออย่างไร

        หรือสำรวจด้วยการเช็คสมรรถภาพร่างกาย หากลดลง เช่น เหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืดเป็นลมบ่อย หัวใจสั่นมากผิดปกติทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกาย มีอาการบวมในร่างกายเกิดขึ้น นอนราบไม่ได้ ต้องนอนหัวสูงเท่านั้น ในรายที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะเช็คสภาพหัวใจได้ง่าย แต่ในรายที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย แน่นอน วิ่งนิดหน่อย คุณก็เหนื่อยแล้ว

        การดูแลรักษาในเบื้องต้น คุณหมอจะสอบถามประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจเอ็กซเรย์เงาปอด และหัวใจ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อช่วยการวินิจฉัย หรือนำไปสู่การส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมที่เหมาะสม ส่วนใครสงสัยว่า ฉันอาจมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดหรือไม่นั้น แพทย์อาจส่งตรวจการเต้นของหัวใจด้วยการเดิน วิ่ง สายพานเลื่อน หรือผู้ใดที่สงสัยว่าตัวเอง มีความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ลิ้นหัวใจตีบ หรือผนังกั้นหัวใจรั่ว หรือโรคของ เยื่อหุ้มหัวใจ คุณหมอก็จะส่งตรวจด้วย เครื่องตรวจเสียงสะท้อนหัวใจ (Ecohocardigraphy) อีกครั้งหนึ่ง

        นอกจากนี้ การรักษายังขึ้นอยู่กับผลการตรวจว่า มีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ถ้ามี การที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนั้นเป็นชนิดใด และที่สำคัญมีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือ ความผิดปกติของอวัยวะใด การรักษาที่สำคัญ คือ รักษาที่สาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว หากหลอดเลือดหัวใจตีบมาก อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการ ขยายหลอดเลือดหัวใจ เช่น การทำบอลลูน หรือการถ่างหลอดเลือด ด้วยขดลวดต่อไป


นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานันท์
อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

9 วิชาสามัญคือ?

ก่อนสอบต้องรู้!! 9 วิชาสามัญ คืออะไร/สอบอะไร/ใช้เพื่ออะไร?


9 วิชาสามัญ คืออะไร?

ขอเกริ่นก่อนนะครับ 9 วิชาสามัญ เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เริ่มแรกทีเดียวนั้น9วิชาสามัญคือ 7 วิชาสามัญ เกิดขึ้นมาเพราะต้องการข้อสอบที่ใช้ในการสอบตรงโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งรอกในการสอบตรงของน้องๆ เพราะเมื่อก่อนนี้ในการสอบตรง ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ออกข้อสอบเอง น้องๆคนไหนที่อยู่กรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆ อยากไปสอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องขึ้นไปสอบที่เชียงใหม่ อยากไปสอบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ต้องไปสอบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในทางกลับกันก็เช่นกันที่น้องๆที่อยู่ต่างจังหวัด อยากเข้ามาสอบในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ก็ต้องเดินทางเข้าไปสอบในกรุงเทพ คิดสภาพดูก็คงรู้นะครับว่าต้องเหนื่อยแน่ๆ  

ด้วยเหตุนี้ 7 วิชาสามัญจึงเกิดขึ้น เพื่อต้องการแก้ไขการวิ่งรอกในการสอบรวมถึงเป็นลดภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย

9 วิชาสามัญ สอบอะไร?


 

9 วิชาสามัญ จะประกอบไปด้วยวิชา
1.ภาษาไทย
2.สังคมศึกษา
3.ภาษาอังกฤษ
4.คณิตศาสตร์ 1 (สำหรับ นร.สายวิทย์)
5.คณิตศาสตร์ 2 (สำหรับนร.สายศิลป์)
6.ฟิสิกส์
7.เคมี
8.ชีววิทยา
9.วิทยาศาสตร์พื้นฐาน (สำหรับนร.สายศิลป์)

ซึ่งก่อนหน้านี้จะมีแค่ 7 วิชา แต่ที่ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงจาก7เป็น9 ก็เพราะว่าเป็นการช่วยน้องๆสายศิลป์นั่นเองครับ ก็คิดดูจะให้น้องๆสายศิลป์ไปสอบคณิตของสายวิทย์หรือพวกฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มันจะไปไหวอะไรจริงไม๊ครับ 55
 

จำเป็นไหมที่ต้องสอบทั้ง9วิชา?

 

บอกเลยครับว่า "ไม่" จำเป็น คณะสายวิทย์ต่างๆจะใช้แค่ 5-7 วิชา ส่วนสายศิลป์ ก็ประมาณ 3-5 วิชาครับ ซึ่งน้องๆต้องดูในระเบียบการของทางมหาวิทยาลัยที่น้องๆต้องการจะสมัครอีกที ซึ่งเคล็ดลับที่พี่แฮนด์จะบอกง่ายๆก็คือ น้องๆต้องค้นหาตัวเองให้เจอให้ไวครับ จะได้รู้เลยว่าคณะที่เราต้องการจะเข้านั้นใช้วิชาอะไรบ้างกี่วิชา เพื่อไม่ต้องจะสมัครหว่านๆมั่วๆไป เปลืองเงินครับ ฮ่าๆ
 

มีมหาวิทยาลัยไหนใช้บ้าง?

 

หลักๆก็จะมีทั้งหมด 27 มหาวิทยาลัยครับ ได้แก่

- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยทักษิณ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยนครพนม
- มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

** แต่ก็ใช่ว่าทั้ง27 มหาวิทยาลัยนี้จะใช้แต่ข้อสอบ 9 วิชาสามัญนะครับ บางมหาวิทยาลัยอาจจะเลือกใช้ข้อสอบอื่นๆได้ตามแต่ทางมหาวิทยาลัย ซึ่งน้องๆต้องศึกษาระเบียบการก่อนการสมัครรับตรงโครงการต่างๆอย่างดี อีกครั้งหนึ่ง

ที่มา : https://blog.eduzones.com/rangsit/149845

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558

เทคนิคการทำข้อสอบและเตรียมพร้อมก่อนเข้าสอบ

เทคนิคการทำข้อสอบและเตรียมพร้อมก่อนเข้าสอบ

1.พยายามตัด choice ก่อนจะเลือกตอบ อย่าพุ่งไปที่คำตอบเลยตอนตอบ ยกเว้นแน่ใจจริงๆ

2.เวลาอ่านโจทย์ ให้อ่านออกเสียงในใจไปด้วย จะทำให้อ่านโจทย์ได้ครบยิ่งขึ้น

3.พยายามขีดเส้นใต้โจทย์เวลาอ่านไปด้วย และวงkeywordเอาไว้ และอย่าลืมเน้นคำว่า ไม่ , ไม่ใช่, ยกเว้น , คำปฏิเสธทั้งหลายด้วย

4.อย่าลืมดูเวลาในนาฬิกาด้วย เพราะเดี๋ยวทำเพลิน หมดเวลาน้า

5.อย่ากาไว้ในข้อสอบแล้วค่อยมาฝน มีน้องๆหลายคนชอบกาไว้ก่อนแล้วค่อยมาฝน แล้วฝนไม่ทัน ยกเว้นข้อที่ยังไม่มั่นใจจริงๆค่อยกลับมาคิด

6.ทำข้อไหนไม่ได้ ข้ามไปก่อนครับ มันจะเสียเวลาถ้าค้างอยู่ข้อเดิม และบางทีโจทย์บางข้อจะไปใบ้โจทย์ที่น้องสงสัยอยู่ได้

7.เข้าห้องน้ำก่อนสอบให้เรียบร้อย และอย่าดื่มน้ำเยอะเกินไปก่อนสอบ

8.อย่าเอาโทรศัพท์เข้าห้อง โดยเด็ดขาด และสิ่งอื่นๆที่เขาห้าม โดยเฉพาะสนามสอบความถนัดแพทย์ มีกรณีที่เกิดขึ้นจริงแล้วคือปิดโทรศัพท์แล้ว แต่นาฬิกาปลุกยังดัง คนนั้นโดนให้หยุดสอบทันที

9.เมื่อหมดเวลาให้วางดินสอทันทีห้ามฝนต่อ เคยมีกรณีในสนาม ความถนัดแพทย์เช่นกัน มีคนไม่หยุดฝน กรรมการกาหัว ให้เซ็นรับสภาพทันที

10.ระหว่างวันหากมีสอบต่อ พยายามอย่ากินของที่คิดว่าจะทำให้ท้องเสีย และเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยทุกครั้ง

ข้อมูลจาก ค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราช ครั้งที่ 17

Mind Mapping แผนภูมิความคิด

Mind Mapping แผนภูมิความคิด เขียนขึ้นมาเพื่อ การคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา นั้นจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เพื่อหาวิธีที่มีความแตกต่างและหลากหลาย โดยควรจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อน แล้วพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์เฟ้นหาวิธีแก้ไขไว้มากๆ

ซึ่งมีหลักง่ายๆที่ช่วยให้เราคิดได้มากขึ้นดังนี้คือ

1.พยายามคิดนอกกรอบประสบการณ์และความชำนาญที่เรามีอยู่

2.ให้ความสำคัญกับทุกความคิดหรือทุกๆ วิธีแก้เท่าๆกัน

3.หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์หรือตัดสินความคิดใหม่ๆ ที่เพิ่งคิดออก แต่ควรใช้ความคิดนั้นเป็น ตัวกระตุ้นให้เกิด ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหาวิธีแก้ที่สืบเนื่องต่อมาจากความคิดนั้น

4.แม้ว่าจะคิดหาทางแก้ได้ดีที่สุดแล้วก็ไม่ควรหยุดความพยายามที่จะคิดหาวิธีต่อไป

5.พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีแก้ทุกวิธีให้ชัดเจน เพราะจะช่วยทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆขึ้นมาได้

ดังนั้นการเขียน การทำแผนภูมิความคิดหรือ Mind Mapping ถือเป็นการกระตุ้นสมอง ให้เกิดความคิดที่เป็น อิสระจากปัญหาที่เป็นศูนย์กลาง ออกไปสู่วิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่แปลกและแตกต่างจากเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยเริ่มจากการเขียนสาเหตุของปัญหาไว้กลางหน้ากระดาษ แล้วลากเส้นโยงออกมารอบๆ

ถ้าคิดวิธีแก้ไขได้ ก็ให้เขียนวิธีนั้น ไว้เหนือเส้นที่เพิ่งลากออกมา ถ้าความคิดไหนสัมพันธ์หรือสนับสนุนวิธีแก้ไขที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เติมความคิดใหม่นั้น ต่ออกมาจากวิธีแก้เดิม ด้วยการลากเส้นแขนงออกจากเส้นหลัก แล้วเขียนความคิดใหม่กำกับลงไป เมื่อเราได้ความคิดใหม่ๆที่หลากหลายแล้ว ก็สามารถนำความคิดเหล่านั้นไปใช้ในขั้นตอนของ การวางแผนแก้ไขปัญหาได้

6 เทคนิคการทำ short note

ในหลาย ๆ ครั้งเนื้อหาของแต่ละบทเรียนที่เรียนก็มีปริมาณมากมายเหลือเกินจนทำให้ถ้าต้องอ่านชีททั้งหมดที่ใช้เรียนอาจจะอ่านไม่ทันได้ วิธีการแก้ไขทางหนึ่งคือการทำ short note สรุปเนื้อหาในรูปแบบของตัวเองเมื่อเรียนจบแต่ละเรื่องทันที

เพื่อที่จะได้มีสรุปของตัวเองไว้อ่านในช่วงใกล้สอบแต่การทำ short note สรุปที่ดีและมีคุณภาพนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก วันนี้ Top-A tutor จึงมี เทคนิคการทำ short note สรุปดี ๆ มาฝากน้อง ๆ และทุกคนที่ต้องอ่านหนังสือบ่อย ๆ มาฝากกันครับ

1. ตัวหนังสือไม่เยอะ

การทำสรุปที่อ่านง่าย ทบทวนได้รวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาทำนานนั้นไม่ควรมีตัวอักษรเยอะครับ โดยให้เปลี่ยนตัวอักษรเหล่านั้นเป็น "ตัวย่อ" หรือ "สัญลักษณ์" ครับ เพื่อให้ง่ายต่อการทำ short note และการอ่านทบทวน เช่น คำว่า ตัวอย่าง = ตย. หรือ Ex. , สารประกอบ = สปก. , without = w/o , เพิ่มขึ้น = เป็นต้น โดยที่ตัวย่อหรือสัญลักษณ์เหล่านี้น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องไปหาตัวย่อมาตรฐานที่ไหนหรอกครับ เพราะ short note เราและทำให้เราอ่านเอง เราจึงสามารถกำหนดตัวย่อหรือสัญลักษณ์ขึ้นมาได้เองเลย ขอแค่ตัวเองอ่านรู้เรื่องเท่านั้นก็พอแล้วนี่ครับ

2. มีเน้นจุดสำคัญ

การทำ short note นั้นไม่ควรทำเพียงสรุปเนื้อหา แต่ควรมีการเน้นจุดสำคัญที่ออกสอบบ่อย ต้องจำให้ได้ ต้องรู้ด้วย จุดสำคัญเหล่านั้นน้อง ๆ จะรู้ได้จากการฟังครูในห้องเรียนแล้วครูพูดย้ำ ๆ หรือพูดว่าต้องรู้ ส่วนวิธีการการเน้นจุดสำคัญใน short note นั้นอาจเขียนเป็นกล่องข้อความแยกออกมาจากเนื้อหาปกติก็ได้ เพื่อให้เมื่ออ่านแล้วจะได้สะดุดเนื้อหานั้นและจำได้นั่นเอง

3. ไม่ต้องใส่เนื้อหาทั้งหมด

การทำ short note สรุปที่ดีนั้นต้องไม่ใส่เนื้อหาทั้งหมดครับ เพราะในบางครั้ง บางวิชา เนื้อหาอาจมีปริมาณมากมาย จนถ้าหากว่าใส่เนื้อหาทั้งหมดลงไปใน short note ก็คงจะเหมือนการเขียนหนังสือเล่มนึงเลยละ ดังนั้นไม่ต้องใส่เนื้อหากันหมดนะครับ ถามว่าแนวทางการเลือกเนื้อหาที่สำคัญ ไม่เลือกเนื้อหาเยอะเกิน หรือลึกเกินนั้นมีแนวทางอย่างไรก็ต้องบอกว่ามีหลายวิธีเลยละครับ เช่น สังเกตเองจากการดูข้อสอบเก่าว่าเขาออกลึกขนาดไหน ถามครูผู้สอนว่าต้องรู้เนื้อหาลึกขนาดไหน เป็นต้น

4. อ่านให้จบก่อน แล้วจึงทำสรุป

การอ่านให้จบทั้งหมดที่จะสรุปก่อนแล้วจึงค่อยทำสรุปมีข้อดีคือการที่น้องจะเห็นภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด เหมือนมี Mind map ของเนื้อหาในสมองก่อนแล้วจึงนำ Mind map นั้นมาเขียนเป็น short note ทำให้เนื้อหาเป็นระเบียบ อ่านง่าย ต่างจากการอ่านไปทำสรุปไปที่ในบางครั้ง อาจต้องลบแก้ในบางจุดเมื่ออ่านไปเรื่อย เพราะพบว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด แก้ไปแก้มา เสียเวลาเปล่า ๆ ใช่ไหมละครับ

5. ใช้สีเข้าช่วย

วิธีหนึ่งที่จะทำให้การทำ short note ไม่น่าเบื่อ และเมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งก็ไม่รู้สึกว่าไม่น่าอ่าน คือ การใช้สีเข้าช่วย อาจเป็นไฮไลท์ หรือปากกาสีก็ได้ เปลี่ยนสีการจดบ้าง เช่น หัวข้อจะใช้สีแดงเขียน เนื้อหาจะใช้สีฟ้าเขียน จุดสำคัญที่ต้องการจะเน้นแยกจากเนื้อหาจะใช้สีเขียว เป็นต้น

6. ทำเป็น Mind map หรือ ใช้โครงของ Mind map

ตัวอย่างรูปแบบการทำสรุปรูปแบบหนึ่งที่นิยม และมีประสิทธิภาพคือการทำในรูปแบบของ mind map เพราะจะทำให้อ่านง่าย เห็นภาพรวม ว่าเนื้อหานี้มีกี่หัวข้อใหญ่ และแต่ละหัวข้อใหญ่มีกี่หัวข้อย่อย และเนื้อหาแต่ละส่วนเชื่อมโยงกันอย่างไรนั่นเอง

เช็กน้ำตาลก่อนดื่ม

เช็ก "น้ำตาล" ในขวด ก่อนยกซด

สภาพอากาศของประเทศไทยตามปกติจัดได้ว่า "ร้อนมาก" เกือบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอเข้ากับสถานการณ์ฝนฟ้าดื้อไม่ยอมตกตอนนี้ ก็ยิ่งกระตุ้นระดับความร้อนดีดตัวสูงอีกเป็นเท่าทวี

เมื่ออากาศเริ่มร้อนและแดดส่องแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายของสิ่งมีชีวิตบนภาคพื้นดิน โดยเฉพาะ "มนุษย์" ก็จะเกิดสภาวะ "กระหายน้ำ" มาก ตามระดับความร้อนหรือแดดที่กำลังเผชิญอยู่ รวมไปถึงความหนักเบาของการทำกิจกรรมเสียเหงื่อช่วงนั้นอีกด้วย

หากไม่ได้น้ำเข้ามาดับกระหายตามความต้องการอย่างทันท่วงที อาจทำให้ร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำและมีโอกาสพบกับอาการ "ฮีตสโตรก" ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ทั้งคู่ ในทางตรงข้ามถ้าเลือกดื่มน้ำไม่ถูกประเภทตามความต้องการที่เหมาะสม ก็มีสิทธิ์สร้าง "โรคชนิดไม่ติดต่อ"ให้ร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้เช่นกัน

แม้คนแทบทั้งโลกจะทราบดีอยู่แล้วว่า"ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด" แต่ด้วยความไร้รสชาติและไม่โดนใจนั่นเอง ได้ทำให้พวกเขาหันไปหา "ซอฟต์ดริงก์" ตามร้านสะดวกซื้อหรือตู้ขายอัตโนมัติ ที่มีรสชาติอร่อยกว่าน้ำเปล่าหลายเท่าตัว มาดื่มดับกระหายผ่อนคลายความร้อนแทน

ทว่าเบื้องหลังความอร่อยของบรรดาซอฟต์ดริงก์ทั้งหลายทั้งปวงกลับซุกซ่อนปริมาณ "น้ำตาล" เอาไว้ในระดับที่มากชนิดเกือบเกินความต้องการต่อวัน จนมีความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อจากความหวานเกิดขึ้น เพราะองค์การอนามัยโลกได้กำหนดระดับความเหมาะสมเอาไว้ที่ 200 กิโลแคลอรีต่อวัน (10 เปอร์เซ็นต์จากความต้องการพลังงานทั้งหมด 2,000 กิโลแคลอรี)

"ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วันทนีย์ เกรียงสินยศ" หัวหน้าฝ่ายมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถ้ามองจากปริมาณน้ำตาลและพลังงานข้างขวดเครื่องดื่มแล้ว อาจจะรู้สึกไม่ได้มากมายอะไรสักเท่าไรนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าใน 1 วันเราไม่ได้รับน้ำตาลจากเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว เพราะในอาหารคาวหวานที่ทานเข้าไปแต่ละมื้อก็มีน้ำตาลผสมปนเปอยู่

"ในทางวิชาการเราแบ่งน้ำตาลเอาไว้2 ส่วน คือ น้ำตาลที่มองไม่เห็นหรือเราไม่รู้ว่ามีน้ำตาลผสมอยู่ กับน้ำตาลที่อนุญาตให้เติมระหว่างวันได้ 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม (96 กิโลแคลอรี) สำหรับคนทั่วไป เพราะ 1 ช้อนชาจะเท่ากับน้ำตาล 4 กรัม (น้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี) แต่ถ้าเป็นคนที่ต้องออกกำลังเยอะอาจต้องการ 2,400 กิโลแคลอรี ก็เพิ่มได้เป็น 8 ช้อนชา (128 กิโลแคลอรี) ขณะที่ผู้หญิงหรือเด็กก็จำเป็นต้องได้น้ำตาลในปริมาณที่น้อยลง อาจไม่ต้องถึง 2,000 กิโลแคลอรีก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการเผาผลาญของร่างกายที่แตกต่างกันด้วย"

ตัวอย่างซอฟต์ดริงก์ยอดนิยมเช่น "น้ำอัดลม" ขนาด 350 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 35 กรัม (140 กิโลแคลอรี), "ชาเขียว (ต้นตำรับ)" ขนาด 500 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 30 กรัม (120 กิโลแคลอรี), "เครื่องดื่มให้พลังงาน" ขนาด 325 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 32.5 กรัม (130 กิโลแคลอรี่) และ "น้ำผลไม้" ขนาด 240 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาล 22.5 กรัม (90 กิโลแคลอรี)

ส่วนเครื่องดื่มประเภท "นม" ก็มีน้ำตาลผสมอยู่ไม่น้อย โดยนมพาสเจอไรซ์รสจืดขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 10 กรัม (40 กิโลแคลอรี), นมปรุงแต่งรสต่าง ๆ ขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 20 กรัม (80 กิโลแคลอรี) และนมเปรี้ยวขนาด 120 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลเฉลี่ย 15 กรัม (60 กิโลแคลอรี)

นอกจากเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์กับนมแล้ว ระยะหลังยังมีกลุ่มเครื่องดื่มประเภท "บิวตี้ดริงก์" เสริมสุขภาพผิวพรรณความงาน กลายมาเป็นเทรนด์ฮิตในสังคมหนุ่มหล่อสาวสวย ซึ่งแน่นอนว่าก็มีน้ำตาลใส่ลงไปเพิ่มรสชาติให้อร่อยขึ้น เฉลี่ยปริมาณน้ำตาล 14 กรัมต่อ 365 มิลลิลิตร (56 กิโลแคลอรี)

เรื่องดื่มแล้วสวยหล่อนั้น อาจารย์วันทนีย์กล่าวว่า การจะมีผิวสวยเปล่งปลั่งได้นั้นมันมีอยู่หลายปัจจัย ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่มีปัญหาเรื่องการขับถ่าย และพักผ่อนเพียงพอ ทุกอย่างต้องสมดุล ส่วนสารอาหารต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปในเครื่องดื่มบิวตี้ดริงก์เป็นเรื่องรองลงมา

อาจารย์วันทนีย์เพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบการดื่มน้ำเปล่ากับเครื่องดื่มซอฟต์ดริงก์แล้ว จะเห็นว่าเครื่องดื่มประเภทหลังให้ความสดชื่นรวดเร็วกว่า เพราะได้รับน้ำตาลหรือพลังงานเข้าไปตรง ๆ เลย เพียงแต่คนส่วนใหญ่มักจะกินในปริมาณที่มากราว 350 มิลลิลิตร ได้พลังงานถึง 140 กิโลแคลอรีในคราวเดียว ซึ่งแบบนี้เป็นปริมาณที่เยอะไปสำหรับลักษณะชีวิตของคนเมืองยุคปัจจุบัน

"ความจริงก็ไม่ถึงกับต้องเลิกดื่มไปเลยนะเพียงแต่ขอให้ดื่มในปริมาณพอเหมาะ ไม่จำเป็นต้องดื่มทีเดียว 500 มิลลิลิตร เอาแค่วันละ 1 แก้ว ประมาณ 100-250 มิลลิลิตรก็พอ อีกอย่างถ้าเราไม่ได้เป็นนักวิ่งมาราธอน หรือนักกีฬาที่ฝึกหนักจริง ๆ แค่ตีแบดหรือเล่นบอล 1 ชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องดื่มพวกเครื่องดื่มเกลือแร่ก็ได้ ทานแค่น้ำเปล่าสะอาดก็พอแล้ว จากนั้นก็ทานอาหารให้ครบตามมื้อตามความเหมาะสม แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว"

นักโภชนาการจากมหิดลเสริมว่า หากต้องการให้สุขภาพของตัวเองแข็งแรงไม่มีโรคภัย จำเป็นต้องตระหนักเรื่องอาหารการกินเป็นสำคัญ ไม่ใช่สักแต่ว่าทานลูกเดียว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดภายในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่มันจะสะสมเป็นเวลานานจากความไม่ถูกต้องและไม่สมดุล จนปะทุออกมาในอีก 3-6 เดือนให้หลัง เช่น รู้สึกว่ากระโปรงหรือกางเกงที่ใส่เริ่มคับ หรือเกิดโรคเบาหวาน, น้ำตาลในเลือดสูง, ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

"แต่ก็ไม่ควรจะเครียดกับอาหารการกินมากจนเกินไปนัก ไม่จำเป็นต้องถึงกับมานั่งคำนวณแคลอรีก่อนก็ได้ เพราะน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าความเครียดมันส่งผลร้ายต่อร่างกายหลายอย่าง ดังนั้นขอให้เอ็นจอยกับการทานและใช้ชีวิต แค่รู้จักตระหนักไว้บ้างก็พอ" อาจารย์วันทนีย์ให้ข้อคิดปิดท้าย

5 สายพันธุ์กระบองเพชรน่ารัก

5 สายพันธุ์กระบองเพชรน่ารัก

กระบองเพชร (Cactus) และไม้อวบน้ำ (Succulents) กำลังเป็นที่นิยมในหมู่สาว ๆ และชาวฮิปสเตอร์ เนื่องจากเป็นไม้ที่ใช้พื้นที่น้อยในการปลูก สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของคนเมืองที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่อยู่อาศัย และไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการบำรุงและดูแลมาก วันนี้ เราจึงมีกระบองเพชรและไม้อวบน้ำ 5 สายพันธุ์ยอดนิยมที่มีหน้าตาน่ารักมาฝาก เห็นแล้วเชื่อว่าสาว ๆ ต้องหลงรักอย่างแน่นอน

1.แมมมิลลาเรีย (Mammillaria) หนึ่งในไม้ตลาดแนะนำที่มีชื่อเล่นน่ารัก ๆ อย่าง "แมม" แคคตัสยอดนิยมที่มีสายพันธุ์มากกว่า 400 ชนิด ที่เลี้ยงง่าย โตไว ออกดอกสม่ำเสมอ แถมราคาไม่แพง ถือเป็นกระบองเพชรขวัญใจสาว ๆ ด้วยลักษณะโดดเด่นของแคคตัสสายพันธุ์นี้ คือ มีปุยขนปกคลุมรอบต้น พร้อมด้วยดอกขนาดเล็กสีสวยหวานผลิเป็นวงตรงยอดต้น พันธุ์ที่นิยมปลูกกัน ได้แก่ แมมขนนก แมมขนนกเหลือง แมมขนแกะ หรือ แมมขนแมว และแมมนกฮูก


2.ยิมโน (Gymnocalycium mihanovichii) กระบองเพชรเจ้าเสน่ห์ที่ใครๆ ต่างหลงรัก โดยเฉพาะสาวกกระบองเพชรที่กำลังมองหาสายพันธุ์ที่ออกดอกง่าย ออกดอกบ่อย และมีดอกที่อวดโฉมขนาดใหญ่ และบานอยู่ทนหลายวัน ในขณะที่สีสันของต้นก็มีหลากหลายให้เลือกตามชอบใจอีกด้วย


3.แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) อีกหนึ่งไม้กระบองเพชรยอดนิยมที่มีจุดขายอยู่ที่รูปร่างลำต้นที่คล้ายกับรูปดาว และแตกต่างจากแคคตัสสกุลอื่นๆ คือ ลายปะจุดสีขาวที่กระจายอยู่ทั่วไปตามลำต้นในปัจจุบันสามารถจัดแบ่งตามลักษณะของลำต้นและหนามที่แตกต่างกันออกไปได้เป็น6 - 7 ชนิด อาทิ แซนด์ หรือ แซนด์ดอลลาร์ และมาริโอ้


4.ฮาโวเทีย (Haworthia) ไม้อวบน้ำที่มีรูปทรงหลากหลายและแปลกตา ที่เราจะสะดุดตากับลวดลายบนใบที่แตกต่าง พร้อมเสน่ห์เฉพาะตัวที่ความโปร่งใสของใบ อาทิ ฮาโวเทีย ม้าตัด ฮาโวเทีย ม้าลาย ม้าสาคู หรือ ม้าโดนัท ฮาโวเทีย บัวแก้ว และฮาโวเทีย หยดน้ำ


5.กุหลาบหิน (Echeveria) ไม้อวบน้ำที่มีรูปทรงเหมือนกับดอกกุหลาบ โดยมีกลีบใบที่อัดเเน่นซ้อนกันเป็นชั้นๆ ดูเผินๆ รูปทรงคล้ายกับดอกกุหลาบจริง แต่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกแข็ง ไม่อ่อนนุ่ม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "กุหลาบหิน"

ทั้งนี้กระบองเพชรจัดเป็นไม้อวบน้ำที่ทนสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งได้ดี เลี้ยงง่าย เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง บางสายพันธุ์หากดูแลดีๆ ก็จะมีดอกออกมาให้เห็นด้วย เวลาอยากปลูกเพิ่มหรือจัดเป็นสวนขนาดย่อมๆ ก็ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากใส่หินก้อนใหญ่ลงไปในภาชนะใบใหม่ก่อน ตามด้วยกาบมะพร้าวและดินตามลำดับ หลังจากนั้นนำกระบองเพชรออกจากกระถางเดิมโดยค่อยๆ เคาะที่ก้นกระถางและเอาดินที่อยู่รอบๆ ออกอย่างเบามือ ระวังอย่าให้รากช้ำ นำใส่ภาชนะใหม่แล้วโรยกรวดปิดหน้าให้รอบ หรือถ้าจะตบท้ายด้วยการใส่ดีเทลน่ารักๆ อย่างการปักป้ายชื่อหรือข้อความลงไปด้วยก็ยังได้

ใช้"หูฟัง"ระวัง "หูหนวก" !

ใช้"หูฟัง"ระวัง "หูหนวก" !

การสูญเสียการได้ยินไม่ใช่โรคร้ายที่คุกคามต่อชีวิต แต่สร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตประจำวันของทุกผู้คนไม่น้อย และแม้จะไม่มีสถิติระบุแน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ารูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ อย่างเช่นการใช้หูฟังแบบเอียร์บัดเพื่อฟังเพลงหรือชมภาพยนตร์ผ่านอุปกรณ์โมบายเป็นเวลานานๆ เรื่อยไปจนถึงเสียงต่างๆ รอบตัวเราที่ดังมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะการสูญเสียการได้ยินอันเกิดจากเสียง (เอ็นไอเอชแอล) ได้ในช่วงอายุน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ศาสตราจารย์ จิลล์ กรุนวาลด์ นักโสตสัมผัสวิทยา (ออดิโอโลจิสต์) จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา บอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่าสภาพแวดล้อมในชีวิตยุคใหม่ดังมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อหูของตัวเองจนกระทั่งสายเกินไป สภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่เราได้ยินเสียงเพียงเพื่อสันทนาการนั้นไม่มีอีกต่อไปแล้ว ทั้งการสวมหูฟังเพื่อรับฟังเสียงเป็นการส่วนตัว, การชมคอนเสิร์ต, สภาพแวดล้อมในบาร์, โรงภาพยนตร์ ล้วนดังมากและเป็นสิ่งที่เราเจอะเจอเป็นประจำในชีวิตประจำวัน

กรุนวาลด์ชี้ว่า การได้ยินเสียงดังมากๆ เป็นระยะเวลานานยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการสูญเสียการได้ยินให้กับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใด และมีเหตุผลพอที่จะบอกได้ว่า ผู้คนในยุคปัจจุบันมีปัญหาเอ็นไอเอชแอลเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อยกว่า จากสาเหตุทั้งสภาพแวดล้อมในการทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจ

เอ็นไอเอชแอลเป็นภาวะค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการได้ยินลงไปเรื่อยๆ ปกติจะเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่การได้รับฟังเสียงดังมากๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้ ซึ่งจะยิ่งแย่ลงมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้นในอนาคต

สถาบันเพื่อความปลอดภัยในงานอาชีพแห่งชาติ (เอ็นไอโอเอสเอช) และสมาคมเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยในงานอาชีพ (โอเอสเอชเอ) ของสหรัฐอเมริกา กำหนดค่ามาตรฐานของเสียงที่เราได้ยินแล้วยังปลอดภัยเอาไว้ที่ระดับ 85 เดซิเบล ซึ่งดังเท่าๆ กับเสียงการจราจรบนท้องถนนที่เราได้ยินเมื่อนั่งอยู่ภายในรถ การได้ยินเสียงที่ดังกว่าระดับดังกล่าว ก่อความเสี่ยงให้เกิดการสูญเสียการได้ยินเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ

การใช้หูฟังเพื่อฟังเพลงจากอุปกรณ์ต่างๆ สามารถให้เสียงได้สูงถึง 120 เดซิเบล ทั้งนี้จากการศึกษาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นระดับเสียงที่เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะเสียงในระดับเกินกว่า 110 เดซิเบลขึ้นไป สามารถทำให้ "เยื่อไมอีลิน" ฉีกหลุดออกจากเซลล์ประสาท ซึ่งจะตัดขาดการส่งสัญญาณไฟฟ้าจากหูไปยังสมองได้ทันที ในกรณีนี้การสูญเสียการได้ยินจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและไม่สามารถฟื้นฟูได้อีกต่อไป

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีเสียงดังอาจดังได้ถึง 90 เดซิเบล อย่างเช่น เลื่อยเชนซอว์ หรือเจ็ตสกี มีระดับความดังที่ 100 เดซิเบล ในคลับหรือคอนเสิร์ตอาจมีเสียงดังได้มากถึง 105 เดซิเบล การเปิดวิทยุในรถยนต์ดังมากๆ อาจทำให้ระดับเสียงสูงขึ้นถึง 120 เดซิเบล หรือการยืนอยู่ห่างจากปืนขณะที่มีการลั่นกระสุนราว 2-3 ฟุต จะได้ยินเสียงระดับ 140 เดซิเบล ที่อาจเป็นระดับเสียงเริ่มต้นที่ทำให้ปวดหูได้สำหรับบางคน

การได้ยินเสียงดังมากในเวลานานๆ บางครั้งอาจก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว เช่น หลังการชมคอนเสิร์ต 2-3 วัน เกิดขึ้นจากองค์ประกอบทางเคมีในหูสร้างภาวะดังกล่าวขึ้นเพื่อป้องกันหู

การได้ยินจะกลับคืนมาได้ และอาจช่วยให้เร็วขึ้นได้ด้วยการไปอยู่ในที่เงียบๆ เพื่อฟื้นฟูความละเอียดอ่อนของหูอีกครั้ง

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันภาวะต่างๆ เหล่านี้ คือให้ลดระดับความดังสูงสุดของอุปกรณ์ที่ใช้กับหูฟังของเราลงจากเดิมให้เหลือเพียง 70 เปอร์เซ็นต์, ใช้หูฟังแบบครอบหู แทนหูฟังแบบเอียร์บัด

เมื่อไปชมคอนเสิร์ตก็ควรนำอุปกรณ์อุดหูติดมือไปด้วย เป็นการป้องกันไว้ก่อนนั่นเอง